พันธุกรรม กับ สิ่งแวดล้อม….ที่ท่านต้องรู้
เจ้าของฟาร์มสุกรต้องการพ่อแม่พันธุ์ชั้นเลิศเข้ามาพัฒนาปรับปรุงพันธุ์สุกรภายในฟาร์ม การแสดงออกที่ให้ทุกท่านเห็นในสุกรแต่ละตัวจึงอาจจะถูกฉาบหลอกเอาไว้ ซึ่งเป็นผลของสิ่งแวดล้อม ที่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการแสดงออกของพันธุกรรม โดยเฉพาะลักษณะสำคัญทางเศรษฐกิจทั้งหลาย
สิ่งแวดล้อม เป็นสิ่งที่ต้องจัดการและทำให้นิ่ง คงที่ภายในฟาร์มเสียก่อน นั่นจึงหมายความว่า การจะปรับปรุงพันธุ์สุกรให้ประสบความสำเร็จ จะต้องมีการจัดการด้านอาหารและการจัดการฟาร์มให้สม่ำเสมอ คงที่และอยู่ในระดับดีจนถึงดีที่สุดก่อน
นอกจากนั้น หากเจ้าของฟาร์มสุกรนำเข้าสุกรพ่อแม่พันธุ์ตัวเป็นๆ มาจากต่างประเทศ หากสุกรสามารถปรับตัวและอยู่รอดได้ การแสดงออกของพันธุกรรมจึงอาจจะถูกแสดงออกมาคล้ายๆ กับนักศึกษาคนแรก แสดงออกได้ไม่เต็มที่ เนื่องจากอิทธิพลของสิ่งแวดล้อมเข้ามามีบทบาทค่อนข้างมาก อากาศที่ร้อนขึ้น อบอ้าวอาหารที่มีความแตกต่างไปจากวัตถุดิบดั้งเดิม การจัดการ การดูแลที่เปลี่ยนแปลงไป จึงเป็นผลกระทบที่ทำให้สุกรพ่อแม่พันธุ์แท้บางตัวตายได้ หรือไม่ถูกคัดเลือกมาทำพันธุ์ต่อไป
ดังนั้น การนำเข้าพันธุ์สุกรชั้นเลิศที่ท่านคิดว่าดีที่สุดในประเทศไทย นอกจากจะได้โรคใหม่ๆ แถมมาแล้ว (จากประสบการณ์ในอดีต) สุกรชั้นดีเลิศ ดีที่สุดในระดับประเทศก็ไม่ได้ตอบโจทย์ได้แค่ศักยภาพบางอย่างที่พอถ่ายทอดและแสดงออกมาได้ระดับหนึ่งที่ผลักดันให้อุตสาหกรรมเลี้ยงสุกรก้าวหน้าไป
แต่ท่านคิดหรือไม่ว่า ความก้าวหน้าทั้งหมดที่เกิดขึ้นในแวดวงการเลี้ยงสุกรที่เป็นอุตสาหกรรมในบ้านเรา มีสักกี่เปอร์เซ็นต์ที่เป็นผลมาจากพันธุกรรม ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการจัดการและอาหารที่พัฒนาขึ้น จึงทำให้การแสดงออกทางพันธุกรรมของสุกรนั้นดีขึ้นด้วย เช่นเดียวกับนักศึกษาคนที่ 2 แล้วพันธุกรรมสุกรของประเทศไทยจะดีขึ้นจริงๆ บ้างได้ไหม
เราหวังพึ่งแต่เทคโนโลยีว่าจะมาช่วยเราในทุกๆ ด้าน เทคโนโลยีมากมายที่เข้ามาช่วยและประสบความสำเร็จอย่างจริงจังมาโดยตลอด เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน อย่างนั้นหรือที่ทำให้คนเรายึดทุกสิ่งทุกอย่างที่ใช้เทคโนโลยีว่าคือพระเจ้าหรือเป็นคนทันสมัย สำหรับการปรับปรุงพันธุ์สัตว์ทั้งหลาย คงต้องใช้วิจารณญาณกันให้มากกว่านี้ สุดท้ายทุกคนมัวแต่นั่งรอเทคโนโลยีที่จะเข้ามาช่วยเร่งให้การปรับปรุงพันธุ์สุกรเป็นไปตามความฝันที่เราฝันเพ้อเจ้อเอาไว้
อุปสรรคสำคัญนั้นคืออะไรเล่า สิ่งนั้นคือ “สิ่งแวดล้อม” ไง ซึ่งประเทศไทยไม่เหมือนกับในทวีปยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย การนำพันธุกรรมของคนอื่นมาใช้ จึงไม่เหมือนการนำพันธุกรรมที่มีอยู่ในประเทศเรามาใช้เอง
เปรียบเทียบเช่นเดียวกับคนไทยที่มีฝีมือด้านการทำอาหารไม่แพ้ชาติใดในโลก หากเอ่ยถึงส้มตำ แต่ให้คนต่างชาติมาตำส้มตำให้ท่านกิน จะไปรอดไหม ไม่ได้ดูถูกคนต่างชาติ แต่อยากจะสื่อว่า หากอยากกินส้มตำ ทำไมไม่ตำเอง มันก็แค่นั้น
ในต่างประเทศไม่ได้มีอากาศแบบร้อน ชื้น ฝนตกชุกที่อยู่ในแถบเส้นศูนย์สูตรเหมือนประเทศไทย การพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ของเขา จึงมุ่งหมายไปในแต่ละประเทศของเขาเอง ประสบการณ์การแก้ปัญหาของประเทศไทยจึงแตกต่างจากต่างประเทศ
ดังนั้น การนำสิ่งใดๆ เข้ามาใช้ในประเทศไทยจึงสู้คนไทยทำเองไม่ได้ เปิดใจยอมรับ และเปิดโอกาสให้คนไทยที่รู้จริงเข้าไปพัฒนาและวางแผนพัฒนาอุตสาหกรรมการเลี้ยงและการปรับปรุงพันธุ์สุกรอย่างเป็นระบบ ภายใน 10-50 ปีข้างหน้า เผื่อจะมีความหวังและโอกาสที่เกิดขึ้นได้เร็วกว่า นอกจากนั้น
การจัดการสิ่งแวดล้อมของแต่ละฟาร์มในประเทศไทย มีความหลากหลายและแตกต่างค่อนข้างมากมายในแต่ละพื้นที่ แล้วแต่หลักการและทฤษฎีที่ไม่เหมือนกันของเจ้าของฟาร์มแต่ละคน ความรู้และองค์ประกอบทั้งหลายจะมาช่วยขจัดสิ่งแวดล้อมให้ออกจากพันธุกรรมได้อย่างไร จึงจะสามารถคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์สุกรได้ถูกตัว ถูกที่ ถูกเวลา จึงเป็นเป้าหมายส่วนหนึ่งที่สำคัญที่สุดในการปรับปรุงพันธุ์สุกร